หนังสือธรรมะ : การบวชอยู่ที่บ้าน


การบวชอยู่ที่บ้าน

หลังจากได้โพสเรื่อง “คนพิการกับการออกบวช” ไป ผมก็ได้หาข้อมูลจนได้บังเอิญมาพบกับคลิปวีดีโอ การบรรยายธรรม ของ ท่าน อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร กับเรื่อง “การบวชอยู่ที่บ้าน



ได้นั่งดูจนจบ ก็รู้สึก โอโม่...มันใช่เลย เพราะผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่จัดว่าเป็นบุคคลที่ไม่ควรบวช (ป่วยกาย)
หรือแม้แต่สตรีที่อยากออกบวชเป็นภิกษุณี แต่ทำไม่ได้ (อ่านเพิ่มเติ่มว่าทำไมบวชภิกษุณีในประเทศไทยไม่ได้)
การบวชอยู่ที่บ้านนี่มันน่าจะเป็นทางออกที่ดีมาก สำหรับสตรีเพศและบุรุษที่ไม่อาจจะออกบวชได้
ในการที่จะหาทางพ้นทุกข์ตามหลักของพระพุทธศาสนา

เมื่อผมเหลือบไปมองเวลาที่โพสของคลิปวีดีโอ เทียบกับเวลาที่ผมกำลังดูอยู่ ... อืม ... ห่างกันประมาณ 2 ปีครึ่งได้
… รู้สึกนานแท้ กว่าจะได้มาเจอ แต่ก็ยังไม่สายที่จะเริ่ม ว่าแล้วก็มาเริ่มเลยดีกว่า แต่คำถามก็เกิดขึ้นฉับพลัน
... แล้วเราควรจะเริ่มต้นยังไง? …

คือ จากการดูคลิปของ อาจารย์ ดร.สนอง พอจะจับหลักคร่าวๆ ได้ว่า การบวชอยู่ที่บ้าน มันคือการบวชใจ
หรือที่นิยมเรียกว่า บวชจิต .. ไม่ได้บวชทางกาย และท่านได้ให้หลักแนวทางปฎิบัติ แบบกว้างๆไว้
โดยแนะนำว่าให้เริ่มจาก รักษาศีล 5 ก่อน สำหรับฆราวาสอย่างเรา

ผมเลยไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ก็ได้อ่านเจอ หนังสือธรรมะ เล่มหนึ่ง (ผมอ่านทางออนไลน์) เป็น หนังสือธรรมะ ของ พระอาจารย์หลวงปู่พุทธทาส ภิกขุ ซึ่งผมอ่านแล้วพอจะจับใจความสำคัญจากการอ่านได้ว่า

หลักปฎิบัติ - วิธีการบวชอยู่ที่บ้าน

--------------------------------------------------------------------------------------------------
คำว่า “บวช” แปลว่า เว้นหมดจากที่ควรเว้น ก็คือ เว้นจากการปฏิบัติหรือการเป็นอยู่ชนิดที่เป็นทุกข์,
สิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์ เราจะเว้นเสียโดยเด็ดขาด
โดยหลวงปู่พุทธทาส ได้ให้หลักปฎิบัติ (ตามหมวดธรรมที่มีชื่อว่า อินทรีย์ 5) ดังนี้

1. มีศรัทธา – มีความเชื่อ

โดยท่านให้ เชื่อ 2 อย่าง คือ
- เชื่อว่าธรรมเป็นเครื่องดับทุกข์ได้จริง เชื่อว่าธรรมเป็นที่พึ่งได้จริง
- เชื่อว่าตัวเองสามารถจะปฎิบัติธรรมะเหล่านั้นได้
อยู่ที่บ้าน แต่ให้มีศรัทธาเต็มเปี่ยมทั้ง 2 ประการ คือมีศรัทธาในธรรมะ และ ศรัทธาในตัวเองว่าจะสามารถปฎิบัติได้
เมื่อรวมกำลังกันทั้ง 2 อย่างนี้แล้ว ก็เป็นศรัทธาที่สมบูรณ์ในการที่จะบวชอยู่ที่บ้าน

2. มีวิริยะ – มีความเพียรและกล้าหาญ

ใน 4 อย่าง คือ ป้องกัน, สละ, สร้างสรรค์ และ รักษา
- ป้องกัน คือ ป้องกันไม่ให้ สิ่งที่ไม่ควรจะเกิดจะมีนั้น (ความชั่ว อกุศล กิเลส) เกิดมีขึ้นมา
- สละ คือ สิ่งที่ไม่พึงปรารถนา (ความชั่ว อกุศล กิเลส) ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้กล้าที่จะสละมันออกไปเสีย
- สร้างสรรค์ คือ สิ่งที่ยังไม่มี (ความดี ความงาม กุศล สุจริต) ที่ควรจะมีในตนที่มันยังไม่เคยมี ก็ต้องสร้างให้มีขึ้นมา
- รักษา คือ ความดีงามที่สร้างสรรค์ขึ้นมาแล้ว ก็ต้องมีการรักษาไว้ หรือพัฒนาให้เจริญงอกงามยิ่งๆขึ้นไป

3. มีสติ – ต้องใช้ในทุกกรณี

สติ นี้เป็นธรรมะพิเศษ, เป็นธรรมะจำเป็นสำคัญที่จะต้องใช้ในทุกกรณี โดยมีหลักว่า ในขณะที่สัมผัสหรือกระทบ
สิ่งต่างๆ เราต้องมีสติ คือเมื่ออะไรมากระทบจิต ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ให้เป็นการรับรู้สิ่งนั้นๆ
หรือรู้สึกอารมณ์นั้นๆด้วยสติ ให้สัมผัสด้วยวิชชาหรือปัญญา อย่าได้สัมผัสด้วยอวิชชาหรือความโง่ และให้ฝึกฝนอยู่เป็นประจำ ... ฝึกสติ ฝึกสติ ฝึกสติ ...

4. มีสมาธิ – มีจิตมั่นคง ตั้งมั่น มุ่งนิพพานเป็นอารมณ์

ทำสมาธิไม่ใช่หมายถึงไปนั่งหลับตาตัวแข็งทื่อเป็นท่อนไม้ แต่
ให้ทำทุกอย่างทุกทาง กล่อมเกลาจิตใจให้เป็นจิตที่มีจุดหมายเดียว อารมณ์เดียว ที่เรียกว่า เอกัคคตา
ทีนี้เรา บวชอยู่ที่บ้าน ก็หาโอกาสที่จะฝึกสมาธิ ... เมื่อกำลังทำการงานอยู่ ก็ทำสมาธิได้ เช่นว่า
ถ้าเราจะต้องกวาดบ้าน เมื่อกำลังกวาดอยู่นั้น ขอให้จิตมันกำหนดอยู่ที่ปลายไม้กวาด อยู่เรื่อยไปๆ
กวาดเรื่อยไป จิตอยู่ตรงนั้นตลอดเวล หรือ เมื่อล้างหม้อ ล้างจาน ก็เหมือนกัน เมื่อเอาอะไรมาถูหม้อถูจาน
จิตก็ให้ไปอยู่ที่ตรงนั้น แค่นี้ง่ายๆ คุณก็เป็นผู้มีสมาธิ เหมือนกับนั่งสมาธิอยู่ในป่านั่นแหละ แต่ว่าทำสมาธิที่บ้าน
... ทีนี้ก็ ทำทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน … เมื่อยืนเท้าแตะพื้นตรงไหน กำหนดตรงนั้น เมื่อเดินก็เหมือนกัน
เท้ามันยกขึ้นมา เท้ามันวางลงไป จิตก็ให้อยู่ที่นั่น มันก็เป็นสมาธิ ... แต่ก็มีอย่างอื่นหลายวิธี เช่นกำหนดลมหายใจ
กำหนดพุทโธ อะไรก็ได้ หมั่นฝึกสมาธิ

5. มีปัญญา – รู้ความจริงที่ควรรู้

ปัญญา แปลว่า ความรู้ คือ รู้สิ่งที่ควรรู้, รู้ความจริงที่ควรรู้ ความจริงที่ดับทุกข์ได้นั้น เป็นความจริงที่ควรรู้
ยกตัวอย่างง่ายๆ “ แม่ไก่ฟักไข่ ก็ฟักให้ดีก็แล้วกัน ไม่ต้องคิดว่าลูกไก่จงออกมา จะเขี่ย จะกก จะกลับ
จะทำให้อุ่นให้เย็นอะไรก็แล้วแต่ ให้มันถูกต้องตามวิธีของการฟักไข่, แล้วลูกไก่ก็จะออกมาเอง
โดยที่แม่ไก่ไม่ต้องหวังว่า ลูกไก่จงออกมา ลูกไก่จงออกมา ถ้าแม่ไก่ตัวไหนมันหวังว่าลูกไก่จงออกมา
บ่นว่า ลูกไก่จงออกมา มันเป็นแม่ไก่บ้า มันใช้ไม่ได้ “ คนนี้ก็เหมือนกัน จะทำงานหรือกระทำการต่างๆ
ก็ทำให้มันถูกต้องด้วยสติปัญญา โดยไม่ต้องมีความคิดหวังเป็นตัวกูของกู ว่าออกมา จงออกมา จงได้มา จงได้กำไร
จงอย่างนั้น จงอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของตัวกู ของกูอย่างนั้น มันทำให้เป็นทุกข์เปล่าๆ แล้วมันก็ไม่ได้ด้วย
และมันอาจจะทำให้งานเสียก็ได้ พอความคิดเกิดขึ้นอย่างนั้น มันจะมืด มันจะกลุ้มมันจะร้อน มันจะเป็นทุกข์
หรือจะเปรียบด้วยตัวอย่างง่ายๆ อีกอย่างหนึ่ง คือ ไปซื้อลอตเตอรี่มาแล้ว ก็อย่ามาหวังให้มันรบกวนจิตใจ
ซื้อแล้วก็แล้วไป ถึงเวลามันออกก็ไปตรวจดู มันถูกหรือไม่ถูก แต่บางคนเขาไม่ชอบอย่างนั้น
เขาชอบซื้อเอามาทำให้มันบ้า ให้มันหวัง นอนหวัง นั่งหวัง จนมันจะเป็นโรคประสาท

สรุป แนวทางปฎิบัติจาก หนังสือธรรมะ "การบวชอยู่ที่บ้าน"

- เว้นจากสิ่งที่ควรเว้นโดยประการทั้งปวง อยู่ที่บ้าน
- แล้วก็ประพฤติหน้าที่ที่ควรประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างดีที่สุด
- อย่างเต็มกำลังเต็มสติปัญญาสามารถอย่างดีที่สุด ในหน้าที่ของตนๆ
- แล้วก็เป็นสุขอยู่กับการทำหน้าที่ของตน
- โดยไม่มีกิเลสตัณหา ที่จะหวังผลอย่างนั้นอย่างนี้ มาสนองกิเลส

" ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง
ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น
กินอาหารของความว่างอย่างพระกิน
ตายเสร็จสิ้นแล้วในตัวแต่หัวที "

ตั้งแต่ต้นเรื่องจนจบเรื่อง ไม่มีตัวกู ไม่มีของกู มันไม่มีความทุกข์ ไม่มีปัญหาอะไร,
มีจิตที่บริสุทธิ์ อยู่ด้วยปัญญาและความสุขสงบ ... นี่คือ “ บวชอยู่ที่บ้าน “

ในบทความ หลวงปู่พุทธทาส ยังทิ้งท้ายติดตลกไว้ว่า
“ ใครเห็นด้วยก็ลองดู บวชอยู่ที่บ้าน แต่ไม่ได้หมายความว่า ให้สึกไปอยู่ที่บ้านกันเสียให้หมด (5555)
แต่หมายความว่า แม้อยู่ที่บ้านก็อย่าน้อยใจ อย่าเสียใจ, แม้อยู่ที่บ้านก็สามารถที่จะทำได้ดีที่สุดได้
ขอให้ผู้ที่อยู่บ้าน หรือยังอยู่ที่บ้านนั้น จัดแจงปรับปรุงให้ชีวิตการเป็นอยู่ของตนนั้น อนุโลมเข้ากันกับการบวช
โดยสมาทานสิกขาบท คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา, ธรรม ๕ ประการนี้ แทรกอยู่ในการปฏิบัติธรรม
ตั้งแต่ต้นจนถึงขั้นสุดท้าย จะได้ใช้เวลาที่บ้าน ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด แม้จะต้องยังอยู่ที่บ้านก็ไม่เสียหาย
พูดง่ายๆ ว่า การบวชอยู่ที่บ้าน ถ้าทำได้นะ … น่าอัศจรรย์กว่าบวชอยู่ที่วัด
--------------------------------------------------------------------------------------------------


ฟังเสียงธรรมบรรยายฉบับเต็ม จากหนังสือธรรมะการบวชอยู่ที่บ้าน” โดยท่านพุทธทาส อินทปัญโญ

ผมหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้ท่านผู้อ่านพอได้แนวทาง (ที่ดี) ในการปฎิบัติ สำหรับการบวชอยู่ที่บ้าน
ส่วนตัวผมเองก็กำลังทำตามแนวทางนี้อยู่ แม้จะยังไปได้ไม่ถึงไหน แต่ก็จะยังคงยึดหลักปฎิบัติตามแนวทางนี้
ต่อไปในการดำเนินชีวิตครับ ... สำหรับผู้ที่คิดอยากบวชแต่ไม่สามารถทำได้ ไม่ใช่แค่เพราะเป็นผู้ไม่ควรบวช
แต่หมายรวมถึง ท่านทั้งหลายที่ยังคงมีภาระหน้าที่ทางโลกอยู่ (เช่น ต้องดูแลเลี้ยงดู ครอบครัว)
ผมคิดว่า การปฎิบัติตามแนวคำสอน ในการบวชอยู่ที่บ้านนี้ ทุกท่านสามารถทำได้ ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก
เพียงท่านเริ่มปฎิบัติอย่างตั้งใจ ผมเชื่อว่า ความทุกข์ที่ท่านมีอยู่ จะค่อยๆทุเลาเบาบางลงได้อย่างแน่นอน
ดังคำพระท่านว่า
"ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารี"
"ธัมโม หะเว รักขะติ ธัมมะจารี"
“ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม”


- JoJho
Copyright © 2014 Dhamma For Who